"ประโยคบอกเล่า"
..."พระสงฆ์ไทย" มี ๒ สถานะ คือ...
(หนึ่ง) คือ ท่านเป็น "คนไทย" อยู่ภายใต้กฎหมายไทย
(สอง) คือ ท่านเป็น "พระสงฆ์" ในพระพุทธศาสนา อยู่ภายใต้กฎหมายพระธรรมวินัยซึ่งบัญญัติรับรองไว้โดยพรบ.สงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ฉบับแก้ไข พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งก็เป็นกฎหมายของไทย
...สาเหตุที่ท่านต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ๒ ประเภท ก็เพราะ...
(หนึ่ง) คือกรรมบางอย่าง พระสงฆ์กระทำไม่ได้โดยพระธรรมวินัย แต่โดยกฎหมายบ้านเมืองนั้นไม่ห้าม
(สอง) กรรมบางอย่าง พระสงฆ์ทำไม่ได้ทั้งโดยพระธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมือง แต่จะถือเป็นความผิดหรือไม่นั้น ต้องให้องค์กรปกครองคณะสงฆ์วินิจฉัยตามหลักพระธรรมวินัยเสียก่อน จึงจะถือว่าเป็นความผิด เพราะในทางพระพุทธศาสนายึดถือเรื่องของเจตนาเป็นสิ่งสูงสุดที่เรียกว่า สจิตตกะ (มีเจตนา)
...ฉะนั้น การจะดำเนินคดีอาญากับพระสงฆ์จะต้องคำนึงถึงศักดิ์ของกฎหมายเป็นสำคัญ!!!
...เมื่อพระสงฆ์กระทำความผิด เมื่อศักดิ์ของกฎหมายเท่าเทียมกัน จึงสมควรบังคับใช้กฎหมายตามพรบ.สงฆ์(ศาลสงฆ์)ให้ถึงที่สุดก่อน
จากนั้น จึงดำเนินคดีกับบุคคลนั้น เมื่อศาลสงฆ์สั่งให้สละสมณเพศแล้ว
เช่นนี้... ก็จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย!!!
...กรณีการบังคับใช้กฎหมายทางโลกกับพระสงฆ์หรือการบังคับใช้กฎหมายที่ผิดหลักพระธรรมวินัย ตามพรบ.สงฆ์ ได้เคยผิดพลาดมาแล้วในอดีต
...ที่จังหวัดสระบุรี มีการบังคับใช้กฎหมายที่ดินที่ประกาศใช้ในกาลสมัยภายหลัง ด้วยการออกหนังสือรับรองสิทธิในที่ดินทับที่ธรณีสงฆ์ แต่ปรากฏว่าที่ดินและที่ธรณีสงฆ์ของวัดแห่งนั้น พระมหากษัตริย์ในอดีตได้เคยถวายไว้แก่วัดในพระพุทธศาสนาเมื่อ ๔๐๐ กว่าปีที่แล้ว และไม่ปรากฏหลักฐานการยกเลิกวัด จนในที่สุดศาลฎีกาก็พิพากษาให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นของวัดตามพรบ.สงฆ์(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๖๒-๙๖๓/๒๕๓๐)
...อนึ่ง พระมหาเถระบางรูป ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์และถูกบังคับให้สละสมณเพศ จนในที่สุด ศาลทหารก็พิพากษายกฟ้องว่าท่านไม่มีความผิด เพราะทำตามพระธรรมวินัย แต่สิ่งที่ท่านสูญเสียไป กลับไม่มีการชดใช้คืนให้แก่ท่าน จนต้องมีการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องกันวุ่นวาย ท่านจึงได้ความยุติธรรมกลับคืนมา
...ทั้งหมดที่ยกมา ก็เพื่อจะสื่อความหมายว่า...
(หนึ่ง) การล่วงละเมิดพระวินัยของพระสงฆ์ เป็นสจิตตกะ คือ ต้องมีเจตนา เช่น ถ้ามีเถยยจิตนำเอาทรัพย์สินของผู้อื่นไปโดยอาการแห่งการลักขโมย มีมูลค่าตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไป ก็ผิด สมควรสละสมณเพศเสีย
(สอง) แต่เมื่อพระสงฆ์อ้างว่าไม่มีเจตนา ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการศาลสงฆ์ตามพระธรรมวินัยที่บัญญัติรับรองไว้ใน พรบ.สงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ฉบับแก้ไข พ.ศ. ๒๕๓๕ เสียก่อน เพื่อป้องกันความผิดพลาดอันอาจจะเกิดขึ้นได้เหมือนในอดีต ต่อเมื่อสิ้นสุดกระบวนการทางศาลสงฆ์แล้วและพระสงฆ์มิได้หลบหนีออกนอกราชอาณาจักร จึงเริ่มกระบวนการตามกฎหมายฉบับอื่น ก็ย่อมได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
...ทั้งหมดนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล มิได้ชี้ผิดชี้ถูก หากจะมีประโยชน์อันใดจากข้อคิดเห็นนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทย เมธีชนก็ย่อมทำตามได้ หากเป็นแนวคิดที่ไร้ประโยชน์ด้วยความด้อยปัญญาไซร้ ก็ได้โปรดให้อภัยแก่ข้าพเจ้า ผู้ด้อยปัญญาด้วยเถิด
-----
นายรักสยาม นามานุภาพ
นายกสมาคมเปรียญธรรม ๙ ประโยค
๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๙
_______________
ที่มาของบทความเฟสบุ๊ก นายรักสยาม...